วิเคราะห์ 3 เหตุผลที่สหรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ
โควิดในประเทศไทย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลายคนอาจได้ยินข่าวคราวมาบ้างแล้วว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ ได้มอบวัคซีน “ไฟเซอร์” จำนวนมากถึง 1,503,450 โดส ให้กับประเทศไทย และจะเตรียมบริจาคเพิ่มให้อีก 1 ล้านโดส โดยการบริจาคครั้งนี้มีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ ต้องการให้ประชาชนในประเทศไทยปลอดภัยและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว นี่จึงถือเป็นครั้งแรก ๆ ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากขนาดนี้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการบริจาควัคซีนของสหรัฐก็ยังมีเรื่องชวนให้น่าคิดวิเคราะห์และหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ถึงเหตุผลต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องเข้ามาช่วยเหลือโควิดในประเทศไทย ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นตามไปดูกันเลย!
1.ด้านการเมืองระหว่างประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาสหรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของทรัมป์ดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่น ๆ มากนักจากการยึดหลักในการใช้นโยบาย America First จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาอาจดูเงียบเหงาลงไปบ้างในห้วงเวลานี้ ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยหันไปพึ่งพาจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ อีกทั้งจีนยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการบริจาควัคซีน ‘ซิโนแวค’ ให้กับประเทศไทยด้วย เมื่อประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิดที่รุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน หลายประเทศที่เป็นศูนย์กลางกระจายวัคซีนไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ญี่ปุ่น รวมถึง สหรัฐฯ จำเป็นต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วย ซึ่งหากวิเคราะห์ในมุมการเมืองระหว่างประเทศ การช่วยเหลือของสหรัฐในครั้งนี้ อาจเป็นความต้องการในการคานอำนาจต่ออิทธิพลจีนที่มีอยู่ในประเทศไทยและอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูพันธมิตรที่เก่าแก่อย่างประเทศไทยหลังจากลดบทบาทลงในช่วงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ นอกจากนี้สหรัฐยังถูกยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นมหาอำนาจของโลก เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตโรคระบาดขึ้นทั่วโลก สหรัฐจึงต้องแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำโลกและให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด
2.ไทยเสี่ยงจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อของโลกรายใหม่ หากยังไม่มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะควบคุมโรคโควิด-19 ภายในประเทศได้ดี และมีประชากรได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วมากถึง 50% ก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะปลอดโควิดได้ตลอดไป เพราะยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ยังเกิดการระบาดหนักและไม่มีการควบคุมหรือรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ประเทศไทย ดังนั้นหากไม่มีการเข้ามาช่วยเหลือหรือปล่อยให้ไทยเผชิญกับโรคระบาดที่แพร่กระจายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตไทยอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อของโลกรายใหม่ ซึ่งอาจนำเชื้อกระจายไปสู่คนอื่น ๆ ทั่วโลกได้ สหรัฐจึงตระหนักและยึดมั่นในหลักการที่ว่า “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” การบริจาควัคซีนจึงมีความจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตประชาชนชาวไทยให้ปลอดภัย
3.ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐมานานแล้ว
ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมามากกว่า 200 ปีแล้ว ซึ่งมีความร่วมมือเกิดขึ้นมากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งทางด้านการเมือง การค้า การทูต การทหาร รวมถึง สาธารณสุข ด้วยเช่นกัน แม้ว่าบางช่วงบางตอนความสัมพันธ์อาจดูเงียบเหงาลงไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วทั้งสองประเทศต่างก็ยังพึ่งพาอาศัยและเป็นมิตรที่ดีต่อกัน เมื่อไทยตกอยู่ในสถานการณ์โควิดที่มีความรุนแรงและในขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้เข้าร่วม COVAX ในปีนี้ก็ตาม แต่สหรัฐก็ยังให้ความช่วยเหลือทั้งบริจาควัคซีนและเงินบริจาคที่มีมูลค่าถึง 167.3 ล้านบาท ให้กับประเทศไทย เพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนและรับมือกับโควิด-19 พร้อมเน้นย้ำว่าสหรัฐจะอยู่เคียงข้างชาวไทย
อย่างไรก็ตามสหรัฐฯก็ไม่ได้มีการตั้งเงื่อนไขใด ๆ ในการบริจาควัคซีนครั้งนี้ นั่นจึงหมายความว่ากลุ่มคนที่มีบทบาทควบคุมการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคภายในประเทศไทย ก็คือ รัฐบาลไทย ซึ่งเดิมทีรัฐบาลไทยเคยกล่าวไว้แล้วว่าจะเน้นการจัดสรรวัคซีนไปยังกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรด่านหน้า แต่จะมีกลุ่ม “ด่านหน้าทิพย์” หรือกลุ่มอื่น ๆ เข้ามารับวัคซีนไฟเซอร์ในนี้ด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์
US embassy website
https://th.usembassy.gov/th/081021-usun-ltg-remarks-th/
Prachachat
https://www.prachachat.net/world-news/news-727222
https://www.prachachat.net/world-news/news-735586