3 งบสำคัญที่เหมาะกับการแก้ไขปัญหาช่วงโควิด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมและลงมติเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวงเงินมากถึง 3,100,000 ล้านบาทให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเอางบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามกลับพบว่ามีบางหน่วยงานที่ถูกตัดงบเพิ่มมากขึ้น และบางหน่วยงานกลับได้งบเพิ่มขึ้น จึงกลายมาเป็นประเด็นร้อนแรงบนโลกโซเชียลมิเดีย ทั้งนี้ประเทศเรากำลังเผชิญกับวิฤตโควิด-19 มานานมากกว่า 1 ปีแล้ว วิกฤตดังกล่าวยังส่งผลกระทบกับคนไทยเป็นจำนวนมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว การเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูประเทศได้ บทความนี้ได้มัดรวม 3 งบสำคัญที่เหมาะกับการแก้ไขปัญหาในช่วงโควิดมาให้กับผู้อ่านทุกคน จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย!
1. งบการศึกษา
หากพูดถึงทรัพยากรที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศ ก็คงจะไม่ใช่สิ่งใดนอกเหนือไปจาก ‘มนุษย์’ เนี่ยแหละ ในประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่าการลงทุนกับมนุษย์โดยเฉพาะด้านการศึกษา จะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศระยะยาว อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ผู้ปกครองหลายคนที่ฐานะทางบ้านยากจนก็ต้องดิ้นรนในการหาอุปกรณ์การเรียนเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนทันคนอื่น ๆ นักเรียนหลายคนขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรจะทำ คือ การให้งบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาสามารถนำไปพัฒนาและจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการศึกษาต่าง ๆ ให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลได้ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงเราก็พบว่างบการศึกษาในปี 65 จะถูกลดลงมากถึง 6.7% โดยมีวงเงินเหลือเพียงประมาณ 332,398 ล้านบาทเท่านั้น จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่างบประมาณเพียงเท่านี้จะถูกจัดสรรอย่างไรให้เด็กนักเรียนทุกคนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและมากที่สุด คงจะเป็นที่น่าสลดใจไม่น้อยหากเราต้องรู้ว่าในวันข้างหน้าจะต้องมีอนาคตของชาติหลายคนถูกตัดออกจากระบบการศึกษา
2. งบสาธารณสุข
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงสถานการณ์โควิดหน่วยงานที่รับมือโรคระบาดมากที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ซึ่งชีวิตและสุขภาพของคนไทยย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามในงบประมาณที่เพิ่งผ่านมติเมื่อสัปดาห์นี้กลับพบว่า กระทรวงสาธารณสุขถูกก็ถูกตัดงบเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีด้วยเช่นกัน โดยลดลงถึง 2.7% และมีงบให้เพียง 153,940.5 ล้านบาทเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานนี้ควรจะได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในการจัดเตรียมอุปกรณ์ตรวจโควิดหรือการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน เป็นต้น มิหนำซ้ำหน่วยงานอย่างกรมควบคุมโรค หรือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ถูกตัดงบด้วยเช่นกัน ลองนึกดูว่าหากเรามีงบประมาณมากพอให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข สถานการณ์โควิดอาจจะคลี่คลายลง ผู้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนแต่ก่อน รวมไปถึงอาจมีโอกาสได้รับวัคซีนเร็วขึ้นและเป็นวงกว้างมากขึ้น
3. งบสวัสดิการประชาชน
ดังที่ทุกคนทราบกันดีว่าสถานการณ์โควิดส่งผลให้คนไทยจำนวนมากต้องมีรายได้ลดลง ตกงาน หรือกลายเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐในการช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถใช้ชีวิตและผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ไปให้ได้ นอกจากนี้สวัสดิการประชาชนยังสำคัญในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตามในงบประมาณปี 65 ที่จะถูกจัดสรรในเร็ว ๆ นี้ เราก็ยังต้องพบกับข่าวร้ายอีกครั้งเมื่องบที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการประชาชน อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกันสังคม บัตรทอง ล้วนถูกลดงบประมาณลงทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าจะมีคนเป็นจำนวนมากขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการที่ดีและเพียงพอจากรัฐ ส่วนโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ดูจะริบหรี่ลงเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
หลายคนยังคงมองว่าเรื่องของงบประมาณเป็นเรื่องที่ไกลตัวพวกเรา แต่หากลองมองไปรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น ถนน สวนสาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะ หรือ การเข้าถึงโรงพยาบาลของรัฐ ล้วนเป็นสิ่งที่ได้จากการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น หากมีการจัดสรรงบประมาณได้อย่างเหมาะสม ทุกคนก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันและเราก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์
BBC Thai
https://www.bbc.com/thai/thailand-57325753
https://www.bbc.com/thai/thailand-57303196
Poetryofb Facebook https://www.facebook.com/poetryofb/photos/a.1093287734207792/1906268659576358/
Khaosod https://www.khaosod.co.th/politics/news_6426322
News Rewind https://www.facebook.com/NewsRewindTH/posts/437440450679528/?_rdc=1&_rdr