สถานการณ์โควิดส่งผลต่อแรงงานในประเทศไทยอย่างไรบ้าง
‘แรงงาน’ ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในประเทศไทยมีแรงงานเป็นจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังมีแรงงานจากหลายประเทศทั่วโลกที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ก็ทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ บริษัทต่าง ๆ เริ่มมีแผนปรับนโยบายภายในเพื่อประคองให้บริษัทยังดำเนินกิจการต่อไปได้ แรงงานเองก็ย่อมได้รับผลจากโรคระบาดไปด้วย บทความนี้จะพาทุกคนไปดูกันว่าแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างไรบ้าง
1.มีคนตกงานเพิ่มขึ้น
เมื่อย้อนกลับไปช่วงที่โควิดระบาดหนักเมื่อปีที่แล้ว พบว่ามีแรงงานว่างงานชั่วคราวมากถึง 3.3 ล้านคน ส่วนสายงานที่มีคนตกงานมากที่สุด คือ สายงานด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งต้องพึ่งพารายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้ามาเที่ยวในประเทศได้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมจึงได้รับผลกระทบเต็ม ๆ หลายที่เลิกจ้างพนักงานหรือไม่ก็ลดเงินเดือนลง นอกจากนี้ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลยังได้เผยว่าคนไทยกว่าร้อยละ 65.94 เกิดความเครียด วิตกกังลกับสถานการณ์ตกงานที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีพอ อนาคตก็อาจมีคนตกงานมากกว่าเดิม ซึ่งจะนำปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นหรืออาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น
2.แรงงานไทยบางส่วนกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดมากขึ้น
กรุงเทพมหานครฯถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่ที่มีคนจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมากเนื่องจากในเมืองมีความต้องการแรงงานสูง แถมยังมีบริษัทและโรงงานเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อโควิดระบาดหนักในกรุงเทพฯ ก็ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง เมื่อแรงงานถูกจ้างออก หลายคนจึงตัดสินใจกลับไปบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดแทน เพราะ ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯได้อีกต่อไป รวมไปถึงกรุงเทพฯยังเป็นพื้นที่เสี่ยงของการติดโรคระบาดโควิด19 ด้วย ดังนั้นการกลับไปบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานว่ามีแรงงานมากกว่า 1 ล้านคนที่ได้กลับภูมิลำเนาในช่วงสถานการณ์โควิดแล้ว ทั้งนี้แรงงานบางส่วนที่กลับไปก็ได้เลือกทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมแทน
3.ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นจุดหมายของแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะจากภูมิภาคอาเซียนอย่างเมียนมาร์ ลาว และ กัมพูชา เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการแรงงานต่างด้าวสูงในหลายสาขาอาชีพที่คนไทยไม่นิยมทำกัน จากสถิติจำนวนคนต่างด้าวในรอบหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ไทยจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายเกิน 1 ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดก็ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวบางส่วนกลับประเทศ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายก็ต้องใช้เวลาในการเข้ามาทำงานในประเทศไทยนานกว่าเดิม แถมบริษัทที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาหลายที่ก็ปิดตัวลงไปแล้ว ทั้งนี้ธุรกิจที่ขาดแคลนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิดทำให้แรงงานหายไปจากระบบมากถึง 100,000-200,000 คน และโครงการรับเหมาจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานเป็นมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้อีกหนึ่งธุรกิจที่ขาดแคลนนแรงงานต่างด้าว คือ ธุรกิจประมง ซึ่งผลจากการขาดแคลนแรงงานทำให้ผู้ประกอบการหลายรายอาจต้องหยุดเดินเรือ
จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โควิดนั้นนส่งผลกระทบกับพวกเรามากขนาดไหน หากคุณเป็นหนึ่งในลูกจ้างหรือแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ จำเป็นมากที่คุณจะต้องรีบวางแผนชีวิตของตัวเองและเริ่มเก็บเงินฉุกเฉินทันที เพราะดูเหมือนว่าโควิดยังคงจะอยู่กับพวกเราไปอีกนาน
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์
TDRI https://tdri.or.th/2020/09/covid-19-labour-market-impact-in-thailand2/
Bangkokbiznews https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/928459
MGR online https://mgronline.com/business/detail/9630000075545
Longtunman https://www.longtunman.com/26840
Prachachat https://www.prachachat.net/economy/news-495666