อัพเดตสถานการณ์พร้อมเหตุผลสำคัญที่ทำให้เงินบาทไทยกำลังวิกฤตหนักสุดในเอเชีย
หากเราย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด เราอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องของค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่า มีการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวยังต้องการเงินบาทไทยเป็นจำนวนมากในการเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งจากรายงานของธนาคารโลกพบว่า เราเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากถึง 39 ล้านคนในปีค.ศ. 2019 ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าเงินบาทไทย อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้น เศรษฐกิจไทยก็ดูเหมือนว่าจะถดถอยลงเรื่อย ๆ จนเมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNBC และ ธนาคาร Mizuho จากประเทศญี่ปุ่น ก็ได้รายงานในทำนองเดียวกันต่อค่าเงินบาทไทยว่า “ผลงานที่ด้อยประสิทธิภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อนของค่าเงินบาทไทย ทำให้เป็นค่าเงินที่แย่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2564” วันนี้ WiSE & OK จะพาทุกคนไปอัพเดตสถานการณ์พร้อมตามหาเหตุผลสำคัญที่ทำให้เงินบาทไทยกำลังวิกฤตหนักสุดในเอเชีย
สำนักข่าว CNBC ได้เปิดเผยรายงาน Refinitiv Eikon ซึ่งระบุถึงเงินบาทของไทยในขณะนี้ว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากถึง 10% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นรายปี ณ เช้าวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2564 นอกจากนี้เมื่อหันไปดูสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เทียบกับดอลลาร์สหรัฐเหมือนกันพบว่า ค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นลดลงเกือบ 7% ค่าเงินริงกิตของประเทศมาเลเซียลดลงเพียง 5% และ เงินดอลลาร์ออสเตรเลียลดลง 4.43% เท่านั้น เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าเงินที่มีประสิทธิภาพแย่ที่สุดในเอเชียและแปซิฟิค นอกจากนี้ นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ยังได้เผยกับสำนักข่าวมติชนอีกว่า ความเสียหายจากวิกฤต COVID-19 ในประเทศที่เข้าสู่กรณีเลวร้ายที่สุดส่งผลให้วิจัยกรุงศรีลดประมาณการ GDP ประเทศไทยปีนี้เป็นเติบโตอยู่ที่ 1.2% จากเดิม 2.0%
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทไทยอ่อนตัวลงมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิดของประเทศไทยที่ดูไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจากการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีจำนวนมากถึง 17,345 ราย มิหนำซ้ำอัตราของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วมีเพียงแค่ 5.2% จากจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะไทยมีการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า มีวัคซีนทางเลือกไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ระบบสาธารณสุขที่กำลังรับมือกับผู้ติดเชื้ออย่างหนัก และ การออกมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ที่จำเป็นต้องปิดสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย หลายคนก็ได้ขายสินทรัพย์ที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อลดความเสี่ยง ดังเช่น หุ้นไทย ซึ่งมีการรายงานว่าขายสุทธิหุ้นไทยรวมมากกว่า 77,817 ล้านบาทแล้ว อีกทั้งนักลงทุนในประเทศไทยเองก็ยังไม่อยากลงทุนในไทยแต่กลับไปลงทุนในต่างประเทศแทน นี่จึงเป็นสัญญาณว่าไม่มีใครสนใจหรือต้องการเงินบาทอีกต่อไปหากสถานการณ์รับมือโควิดยังเป็นเช่นนี้
นอกจากนั้นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทไทยอ่อนลง มาจากการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด ซึ่งแต่เดิมการท่องเที่ยวถือเป็นช่องทางหลักในการหารายได้เข้าประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยองค์กรสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council หรือ WTTC) เคยคำนวณสัดส่วนรายได้จากภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ต่อ GDP พบว่าไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 20 % ของ GDP ในประเทศไทย เมื่อประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวน้อยลง จึงหมายความว่า ความต้องการเงินบาทไทยก็น้อยลงไปด้วย และแม้ว่าตอนนี้จะมีโครงการ Phuket Sandbox เป็นพื้นที่แรกในการทดลองเปิดประเทศอีกครั้ง แต่ก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าผลการทดลองเปิดประเทศจะได้ผลหรือไม่ หากได้ผลลัพธ์ที่ดีก็อาจส่งสัญญาณให้ค่าเงินบาทไทยค่อย ๆ แข็งขึ้น แต่หากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้และมีการระงับโครงการฯเกิดขึ้น ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในบ้านเราซบเซาต่อไป
ดังนั้นแล้วกุญแจสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถพยุงเศรษฐกิจและค่าเงินบาทต่อไปได้ คือ การเร่งฉีดวัคซีน (ที่มีประสิทธิภาพ) ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อประคับประคองสถานการณ์โควิดให้ดีขึ้น และควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีแบบแผนและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแรงจูงใจและเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับมา ซึ่งหากยังไม่มีการแก้ไขที่ดีและรวดเร็ว คนที่จะเดือดร้อนและได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ‘คนไทยทุกคน’
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์
World Bank Data https://data.worldbank.org/indicator/ST.INT.ARVL?locations=TH
Business Today https://www.businesstoday.co/opinions/08/10/2020/51760/
Matichon https://www.matichon.co.th/economy/news_2837408