จะเกิดอะไรขึ้นหากออฟฟิศของคุณใช้แนวคิดแบบ Inclusion การเปิดรับทุกคนในที่ทำงาน พร้อมตัวอย่างการใช้ Inclusion จากบริษัท Tech ระดับโลกชื่อดัง!
ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าการมีคนเก่งหรือคนมีความสามารถภายในองค์กรเพียงอย่างเดียว ก็อาจยังไม่พอที่จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมาก จึงไม่แปลกใจเลยว่าหลายบริษัทชั้นนำเริ่มจะหันมาให้ความสำคัญกับพนักงานมากขึ้นโดยเฉพาะการดูแลพนักงานเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าพวกเขามีความสุขกับการทำงานภายในองค์กรนี้จริง ๆ และเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่องค์กรชั้นนำโดยเฉพาะองค์กรระดับโลกเริ่มนำมาปรับใช้ คือ แนวคิดแบบ Inclusion (การเปิดรับทุกคน) ที่ ‘พนักงานทุกคน’ ภายในองค์กรต่างได้รับการยอมรับ การเคารพ การให้คุณค่า และ การสนับสนุน ต่อการทำงาน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในขั้นตอนที่ต้องมีการตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังยอมรับและผสานความแตกต่างของพนักงานทุกคนเพื่อให้ร่วมงานกันได้อย่างกลมเกลียว ทั้งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างหากออฟฟิศของคุณมีการนำแนวคิดแบบ Inclusion ไปปรับใช้ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย!
1. พนักงานได้รับการถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
หัวใจสำคัญของแนวคิด Inclusion คือ การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยก อายุ เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ เพราะ ทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ย่อมมีความแตกต่างหลากหลายเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในองค์กรเดียวกัน จึงสมควรที่ต้องเปิดรับทุกคนและให้โอกาสทุกคนได้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงการลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งข้อดีที่ตามมาคือ พนักงานจะทุ่มเทให้กับงานมากขึ้นและสามารถสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ เพราะ พวกเขามั่นใจว่าเมื่อผลงานออกมาดี พวกเขาจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับไปอย่างเหมาะสมและยุติธรรม
2. พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา
ในหลาย ๆ ครั้ง ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของพนักงานก็อาจส่งผลให้เกิดไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับบริษัทออกมา อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมในบางองค์กรกลับไม่ได้เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาเท่าที่ควร และพนักงานเองก็กลัวว่าถ้าแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกจากเสียงส่วนมากไปแล้ว พวกเขาจะถูกมองไม่ดีหรือจะถูกเลือกปฏิบัติในภายหลังได้ ดังนั้นหากองค์กรใดนำแนวคิดแบบ Inclusion ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของกฎ,กติกา,นโยบาย ฯลฯ มาใช้ในการยอมรับและพร้อมเข้าใจในความคิดเห็นที่แตกต่างของพนักงานทุกคน ก็มั่นใจได้เลยว่าพนักงานจะต้องกล้าแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและตรงไปตรงมาได้มากขึ้นและงานก็จะมีโอกาสสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
3. พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร
ว่ากันว่าหากองค์กรใดที่มีพนักงานจำนวนมากรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร องค์กรนั้นก็จะมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้น เพราะ พนักงานต่างรู้สึกผูกพันและต้องการที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จด้วยฝีมือของพวกเขา แต่การจะทำให้พนักงานมีความรู้สึกเช่นนี้ได้นั้นก็ต้องมาจากความพึงพอใจในองค์กรก่อน ซึ่งก็มีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นตัวงาน เงินเดือน โอกาสในความก้าวหน้าในอาชีพ รวมไปถึงเรื่องของบรรยากาศในที่ทำงานกับเพื่อนร่วมงานอีกด้วย หากมีการนำ Inclusion มาใช้ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น จัดทำ Workshop ที่พนักงานสนใจ หรือ การมอบสวัสดิการที่สอดคล้องกับความหลากหลายที่เกิดขึ้นในองค์กร อาทิ สวัสดิการสิทธิ์ลาคลอดที่ให้ทั้งพนักงานหญิงและพนักงานชายที่ต้องคอยให้ความช่วยเหลือหลังภรรยาคลอดลูกด้วย หรือ สวัสดิการสิทธิ์ลาเพื่อดูแลบุตรสำหรับพนักงานทุกคน พนักงานก็จะพึงพอใจที่องค์กรให้ความสำคัญกับพวกเขาเท่ากันหมด อีกทั้งพนักงานก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรมากขึ้น แถมยังเป็นการรักษาคนเก่งให้ทำงานอยู่ในองค์กรไปนาน ๆ ได้อีกด้วย!
ปัจจุบันจึงไม่แปลกใจเลยว่าเราจะเห็นบริษัทใหญ่ ๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ Inclusion มากขึ้น ซึ่งส่วนมากจะถูกรวมใน แนวคิดการบริหารแบบ DEI (Diversity = ความหลากหลาย / Equality = ความเท่าเทียม / Inclusion = การเปิดรับคนทุกคน) ซึ่งเป็นการสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร โดย ‘บริษัท Google’ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างบริษัทที่เอาแนวคิด Inclusion มาสอดแทรกภายในองค์กรด้วยเช่นกัน จากการให้สัมภาษณ์ของ คุณแจ็คกี้ หวาง Country Director Google ประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Standard ก็พบว่า Google มีการจัดตั้ง Employee Resource Groups (ERG’s) ซึ่งเป็นเสมือนการรวมกลุ่มของพนักงานที่มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่ม Pride ที่สนับสนุน LGBTQ+ หรือ กลุ่มมุสลิม เป็นต้น ERG’s จึงถือเป็นพื้นที่สำคัญที่จะเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความหลากหลายใน Google ได้เข้ามาอยู่รวมกันและสร้างความตระหนักรู้ของแต่ละกลุ่มให้กับกลุ่มอื่น ๆ ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ กิจกรรมพูดคุยภายในสมาชิก ซึ่งถือเป็นข้อดีที่พนักงานจะไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องถูกทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยว และหากมีปัญหาอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการทำงาน การเงิน ชีวิต ก็ยังมีเพื่อนร่วมงานภายในกลุ่มคอยรับฟัง อีกทั้งยังมีโปรแกรม Employee Assistance Program รองรับในการหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาให้คำปรึกษากับพนักงานได้อย่างถูกต้อง
สรุปได้ว่าแม้องค์กรต้องการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ดีเลิศขนาดไหน แต่หากละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่องค์กรนั้นจะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะ ‘พนักงาน’ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการมีอยู่ของทุกองค์กร หากองค์กรสามารถทำให้พนักงานมีความพอใจและรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กรได้ รับรองได้เลยว่าความสำเร็จของบริษัทก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม!
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์
HBR https://hbr.org/2021/05/how-to-measure-inclusion-in-the-workplace
The Standard https://thestandard.co/google-organization-concept/
Adecco https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/new-normal-of-diversity